“จ้ำจี้ผลไม้ แตงไทยแตงกวา ขนุนน้อยหน่า พุทรามังคุด ละมุดลำไย มะเฟืองมะไฟ มะกรูดมะนาว มะพร้าวส้มโอ ฟักแฟงแตงโม ไชโยโห่ฮิ้ว” KC Fresh เชื่อว่าใครที่อายุ 35 ขึ้นไป เคยได้ยินคำคล้องจองที่ใช้ร้องเล่นกันตอนเด็กๆ นี้แน่นอน แต่แม้จะขึ้นต้นเป็นจ้ำจี้ผลไม้ แต่ 3 คำในคำกลอน ไม่ใช่ผลไม้ แต่นำมาใส่ไว้เพียงเพราะชื่อคล้องเท่านั้น
3 คำที่ว่า มีลักษณะเป็นผล แต่ไม่ใช่ผลไม้ ได้แก่ ฟัก แฟง แตงกวา ซึ่งแม้จะมี 3 คำ แต่เป็นพืชผักเพียง 2 ชนิด เพราะ ฟักและแฟง คือพืชชนิดเดียวกัน
“ฟัก” มีผลใหญ่ รูปทรงมนๆ รีๆ ลูกอ่อนๆ ผลเล็ก ผิวเขียวนวล มักถูกเรียกว่า “แฟง” แต่เมื่อแก่ ผิวจะแข็งมีคราบขาวๆ ขึ้น และเนื้อก็จะยิ่งแข็ง จึงเรียกว่า “ฟัก” หรือ “ฟักเขียว” นิยมเอาไปตุ๋นต้มทำแกงหรือซุป และความที่มีขนาดผลที่ใหญ่มาก คนขายบางคนจึงมักตัดแบ่งขายตามน้ำหนักที่คนซื้อต้องการ ส่วนชื่อเรียกนั้นจริงๆ ก็มีอีกมากมายต่างไปตามท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีฟักอีกชนิดที่ต่างจากฟักทั่วไป เพราะมีผลค่อนข้างกลม ผิวสีเขียวแก่ๆ เรียกว่า "ฟักหอม"
ส่วนว่าในบ้านเรานิยมใช้ฟักอะไรมาประกอบอาหาร คำตอบคือ ฟักแบบแรก ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรือหวาน แถมยังกินได้ทั้งแบบดิบและแบบสุก ทั้งผลอ่อนและผลแก่ โดยผลอ่อนจะมีรสชาติที่เข้มกว่าผลแก่ และมีน้ำมากกว่า
แต่นอกจากผลฟักที่นำมาทำอาหารได้แล้ว ส่วนอื่นๆ ของต้นฟักยังกินได้อร่อยไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นยอดอ่อนที่นำมาลวกหรือต้มกับกะทิแล้วกินคู่กับน้ำพริกได้อร่อยมากๆ หรือแม้แต่ใบอ่อนและตาดอกฟักเขียว หากนำไปนึ่งหรือใส่แกงจืดก็ช่วยเพิ่มรสชาติได้ และถ้าอยากหาธัญพืชใหม่ๆ กิน ลองนำเมล็ดฟักที่อุดมไปด้วยน้ำมันและโปรตีน มาทำให้สุกก่อนกินก็จะช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายและมีอาการแน่นหน้าอก
ปิดท้ายด้วยวิธีเลือกฟักสักหน่อย นั่นคือควรเลือกฟักที่มีเนื้อแข็ง เพราะเมื่อนำมาปรุงอาหารจะมีรสหวานกรอบ แต่ถ้าซื้อแบบแบ่งขาย ขอให้สังเกตว่า มีขอบของเยื่อเป็นสีเขียวเข้มแล้วค่อยๆ จางเป็นสีขาวจนถึงตรงกลางหรือเปล่า ถ้ามีแบบที่ว่าละก็ หยิบใส่ตะกร้าได้เลย
คุณค่าทางโภชนาการของฟักเขียวสด ต่อ 100 กรัม
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)