4 ข้อดีของการกินผักตามฤดูกาล

ถ้าคุณคือหนึ่งในคนที่กินผักและรักที่จะทำอาหารกินเอง สิ่งหนึ่งที่คุณต้องเคยเจอแน่นอนคือเรื่องของราคาผักที่ขึ้นลงไม่เท่ากัน รวมถึงคุณภาพของผักที่เดือนนี้อาจจะสวยงาม แต่อีกเดือนอาจจะไม่สวยเท่า นั่นเพราะผักบางชนิดที่เห็น เป็นผักนอกฤดูกาล ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จึงมีกระแสสนับสนุนให้ผู้บริโภคหันมากินผักตามฤดูกาลมากขึ้น เพราะข้อดีมีอยู่มากมาย แต่จะมีอะไรบ้าง แล้วดีจริงไหม ไปดูกันค่ะ

  1. ไม่เสี่ยงต่อสารเคมีทั้งหลาย : พืชผักบางชนิดขึ้นได้ดีในช่วงฤดูร้อน บางชนิดต้องรอฤดูหนาวถึงจะออกผล แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อยากจะให้ผักเติบโตในช่วงฤดูกาลที่ไม่ใช่ฤดูกาลของผักชนิดนั้นๆ เกษตรกรอาจต้องพึ่งสารเคมีบางอย่าง แต่หากกินผักตามฤดูกาล นั่นแปลว่าเราสามารถเลี่ยงสารเคมีทุกประเภทได้ไปในตัว เพราะแค่ปล่อยให้เติบโตตามธรรมชาติ และดูแลเรื่องแมลงรบกวนสักหน่อย เพียงเท่านี้ ก็เลี่ยงความเสี่ยงต่อสารเคมีได้ทางหนึ่งแล้ว
  2. ราคาถูก : เพราะปลูกได้เยอะ ปลูกได้มากแบบไม่ต้องลุ้น แถมกรรมวิธียังเป็นไปตามขั้นตอนของธรรมชาติ เกษตรกรไม่ต้องลงทุนเพิ่มในการสรรหาสารเคมีหรือวิธีการใดๆ มาทำให้ผักโตนอกเหนือจากรอบการโต จึงไม่แปลกที่ราคาของผักตามฤดูกาลจะถูก เพราะหาซื้อได้ง่าย ไปที่ไหนก็มีขาย แถมได้คุณภาพอีกด้วย
  3. ได้สารอาหารครบถ้วน : ผักที่เจริญเติบโตตามฤดูกาลมักจะเป็นผักที่เติบโตในสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทั้งเรื่องของความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสงที่เหมาะสม ทำให้ผักที่บริโภคเข้าไปมีสารอาหารครบถ้วนตามธรรมชาติ
  4. ลดโลกร้อน : อย่างที่บอกไปแล้วว่า เมื่อไม่ต้องปลูกผักนอกฤดูกาล ทำให้ปริมาณการใช้สารเคมีลดลง นั่นจึงมีส่วนที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการใช้สารเคมีทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นในน้ำและดินได้

 

แต่ด้วยรูปแบบของการบริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ผักของไทยได้รับความนิยมไปถึงต่างชาติ ทำให้บางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปลูกผักนอกฤดูกาลออกมาจำหน่าย ซึ่งตัวผู้บริโภคมีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะบริโภคหรือไม่ก็ได้ หากจะเลือกบริโภคผักนอกฤดูกาล ก็ขอให้มั่นใจว่า ผักที่เลือกมาบริโภคเป็นผักปลอดภัยที่ผ่านการดูแลในเรื่องปริมาณการใช้สารเคมี รวมถึงสารเคมีตกค้าง ยิ่งเป็นผักที่อ่านการรับรองว่าได้มาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนดยิ่งดี ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้บริโภคผักนอกฤดูกาลอย่างปลอดภัยสูงสุด

 

ฤดูร้อน (มีนาคม - พฤษภาคม) > ฟักทอง, มะเขือเปราะ, แตงกวา , ใบแมงลัก, ใบเหลียง, หอมหัวใหญ่, มะระ, บีทรูท, กระเจี๊ยบเขียว, ผักหวานป่า, คะน้า, กะเพรา, ถั่วพู, มะเขือเทศ, มะนาว, มะเขือพวง, ถั่วฝักยาว 

ฤดูฝน (มิถุนายน - ตุลาคม) > มะเขือพวง, กระเจี๊ยบเขียว, ขิง, ข่า, ผักบุ้งจีน, ผักแว่น, ผักโขม, ดอกโสน, ฟักเขียว, ผักหวานบ้าน, ตำลึง, ใบบัวบก, ชะอม, น้ำเต้า, กะเพรา, ผักกูด, หัวปลี, สะระแหน่, ถั่วฝักยาว, หน่อไม้, ผักบุ้งนา, ดอกขจร, มะนาว, สายบัว, กุยช่ายดอก, กุยช่ายใบ, ผักปลัง 

ฤดูหนาว (พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์) > ตะลิงปลิง, ผักสลัด, ผักกาดหอม, ดอกแค, สะเดา, กวางตุ้ง, ปวยเล้ง, มะรุม, ผักปลัง, ผักชี, คะน้า,  กะเพรา, ดอกกะหล่ำ, กะหล่ำปลี, ถั่วลันเตา, แครอท, พริกหวาน, ลูกเหรียง, ผักกาดขาว

หมายเหตุ : ข้อมูลมาจากเว็บไซต์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)