เก็บผักใส่ตู้เย็นแบบไหนคุณค่าไม่หาย

หลังจากซื้อผักกลับมาถึงบ้าน หรือรับผักปลอดภัยจาก KC Fresh Delivery ที่ส่งตรงถึงคุณแล้ว เชื่อว่าคุณแม่บ้านส่วนใหญ่ไม่ลืมนำเข้าตู้เย็นแทบทั้งนั้น แต่บางครั้ง อาจเจอปัญหาที่ว่า แม้จะนำเข้าตู้เย็นทันทีก็ยังต้องเจอกับปัญหาผักเสียเร็ว สาเหตุเพราะอะไร ลองเช็คกันดู ว่าคุณเข้าข่ายไหนหรือเปล่า

เก็บผักผิดที่

ในตู้เย็นทุกตู้จะมีส่วนแช่ผัก ซึ่งมักจะอยู่ชั้นล่างสุดของตู้เย็น โดยมีลักษณะเหมือนกล่อง คุมอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 7-10 องศาเซลเซียส จึงเหมาะกับการเก็บผักหรือผลไม้ แต่หากส่วนเก็บผักล้นอาจเก็บผักในช่องแช่อื่นได้ แต่สิ่งที่ต้องจำไว้คือ เก็บไว้ในชั้นที่ห่างจากช่องแช่แข็งมากที่สุด เพราะหากเก็บผักหรือผลไม้ไว้ในอุณหภูมิที่สูงหรือต่ำกว่า 7-10 องศาเซลเซียสก็จะทำให้แร่ธาตุและเหล่าวิตามินในผักและผลไม้อาจจะถูกทำลายได้ง่าย

ขาดความรู้ในการเก็บผัก

แม้จะเป็นผักเหมือนๆ กัน แต่โดยลักษณะแล้ว ผักแต่ละชนิดมีความต่างกัน  คุณแม่บ้านจึงควรแบ่งกลุ่มของผักให้ได้ เพื่อเตรียมการเก็บให้ถูกวิธี โดยแบ่งเป็นกลุ่มผักที่เน่าเสียง่าย เช่น ผักชี ผักกาดหอม ถั่วงอก ถั่งฝักยาว ผักบุ้ง ชะอม กลุ่มผักที่เก็บได้ในระยะเวลาจำกัด เช่น ผักกาด ผักคะน้า มะเขือเทศ และกลุ่มผักที่เก็บไว้ได้นานกว่าผักอื่นๆ เช่น ฟัก แฟง เผือก มัน ฟักทอง เป็นต้น  จากนั้นทำการเก็บผัก โดยไม่เก็บไว้รวมกัน แต่มีการห่อหรือแยกประเภทก่อนเก็บ เพื่อไม่ให้ผักเน่าเสียและเสื่อมสภาพเร็ว

เก็บผักและผลไม้รวมกัน

นอกจากจะเก็บผักแยกตามชนิดของผักแล้ว ไม่ควรเก็บผักและผลไม้ให้อยู่ด้วยกัน และควรเก็บผักแต่ละชนิดโดยแยกกันเป็นสัดส่วน  เพราะผลไม้สุกจะปล่อยก๊าซเอธิลีนออกมา ทำให้ผักที่ว่างอยู่ใกล้ๆ เสียเร็ว ทางที่ดีควรเก็บผักและผลไม้แยกถุง หรือแยกชั้นกัน ยิ่งแช่ห่างกันมากเท่าไรผักและผลไม้ก็จะช่วยยืดอายุได้นานขึ้น

ล้างก่อนเก็บ

ควรล้างเมื่อจะนำมาประกอบอาหารเท่านั้น ประเภทผักใบ ถั่วลันเตา ถั่วแขก เหล่านี้ควรแยกใส่ถุงพลาสติกแล้วเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 7-8  องศาเซลเซียส จะช่วยให้คงความสดอยู่ได้นานขึ้น

เตรียมความพร้อมของผักก่อนเก็บไม่เหมาะสม

ผักหัวอย่างแครอท หัวผักกาด หัวบีท เผือก ให้ตัดใบออกให้หมดก่อนเก็บ เพื่อไม่ให้ความหวานในหัวจะลดลง สำหรับผักที่มีเปลือกหนาอย่างฟักทอง ฟักเขียว มันฝรั่ง เผือก สามารถเก็บโดยไม่ต้องล้าง แต่ให้วางไว้ในที่เย็นๆ อากาศถ่ายเทได้ จะช่วยให้เก็บไว้ได้นานขึ้น

หากเช็คแล้ว เข้าข่ายแบบไหน รีบปรับเปลี่ยนวิธีการโดยด่วน เพื่อให้ผักสดคงคุณภาพดีก่อนปรุง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือหากซื้อผักสดมาแล้ว ควรกินภายใน 2-3 วัน และไม่ควรเก็บไว้นาน 3-5 วัน เพื่อที่ผักสดๆ จะยังคงสารอาหารได้สูงสุด

 

ข้อมูล : https://maanow.com/ , http://foodsan.anamai.moph.go.th/

 

.

Cr. Photo by Pearl Satin