ข้าวโพดหวาน ของดีหากกินง่าย แต่ก็ต้องระวัง

ที่ KC Fresh บอกว่าต้องระวัง เพราะนอกจากการกินอาหารทุกประเภทต้องกินแต่พอดีจึงจะดีต่อสุขภาพแล้ว ในการกินอาหารทุกประเภท ควรสำรวจตัวเองด้วยว่า มีอาการใดๆ เกิดขึ้นหลังจากบริโภคหรือเปล่า คุณอาจจะพบว่า มีอาหารบางประเภทที่คุณแพ้โดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับ “ข้าวโพดหวาน” ที่ดูเผินๆ แล้วอาจคิดว่ากินได้แน่นอน แต่ไม่ใช่สำหรับในบางกรณีและบางคนนะคะ

จริงอยู่ที่ในข้าวโพดหวานมีสารอาหารสำคัญเพียบ โดยข้าวโพดหวานต้มสุก ในปริมาณ 100 กรัม มีคุณค่าสารอาหาร ดังนี้

  • พลังงาน 96 แคลอรี่
  • น้ำ 73 เปอร์เซ็นต์
  • โปรตีน 3.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 21 กรัม
  • น้ำตาล 4.5 กรัม
  • ไฟเบอร์ 2.4 กรัม
  • ไขมัน 1.5 กรัม
  • โซเดียม 15 มิลลิกรัม

และ “ข้าวโพดหวาน” ยังช่วยบำรุงสายตา เพราะมีลูทีนและซีเซทีน (Lutein – Zeaxanthin) ที่ช่วยป้องกันดวงตาจากแสงแดดและกรองแสงสีฟ้า ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม และยังมีสารเควซิติน (Quercitin) และกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) ที่ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ป้องกันไขมันในหลอดเลือดอุดตัน หลอดเลือดตีบ และช่วยต่อต้านรวมถึงยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ป้องกันโรคมะเร็งได้หลายชนิด

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก่อนนำมาบริโภคควรต้ม นึ่ง หรือ ปิ้งให้สุกก่อนเสมอ และไม่ควรกินข้าวโพดหวานดิบอย่างเด็ดขาด เพราะในข้าวโพดดิบมีแป้งที่ร่างกายย่อยไม่ได้อยู่ หากกินแบบดิบจะทำให้ท้องอืด นอกจากนี้สิ่งที่พึงระวังอย่างยิ่งคือ ในข้าวโพดมีสารพิษจำพวกสารพิษจากเชื้อรา และสารต้านโภชนาการ (Anti-Nutrients) หากบริโภคมากไปจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับตับ ปอด และระบบภูมิคุ้มกันด้วย

และความที่ข้าวโพดเป็นพืชที่มีแป้งต่ำ ก็จะทำให้มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตมาก หากกินมากเกินไปก็ทำให้เสี่ยงต่อระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจจะทำให้ร่างกายได้รับแป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก ส่งผลให้อ้วนได้

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยเบาหวานจะบริโภคข้าวโพดหวานไม่ได้นะคะ เพราะยังคงบริโภคได้ตามปกติ แต่ในปริมาณที่เหมาะสม อย่าให้มากจนเกินไป รวมไปถึงในบางคน ลำไส้อาจจะไวต่อแป้งบางตัวในข้าวโพด ก็จะทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ วิธีแก้ คือ ก่อนนำไปต้มควรแช่น้ำค้างคืนไว้ก่อนนำมาประกอบอาหารเสมอนะคะ