เราๆ ท่านๆ ส่วนใหญ่รู้กันอยู่แล้วว่า ตำลึงมีวิตามินเอสูง กินแล้วจะเข้าไปช่วยบำรุงสายตา นอกจากนี้ยังมีวิตามินอื่นๆ ที่ให้ทั้งพลังงาน แร่ธาตุพร้อมสารอาหารอีกมากมาย แต่ก็มีการแชร์กันมากมายในโลกโซเชียลว่า ตำลึงมีเพศ และถ้าใครกินเข้าไปผิดเพศละก็ มีอันท้องเสีย!
เรื่องนี้จริงหรือเปล่า ลองมาดูข้อมูลนี้ค่ะ
ผศ.ดร.พิจิตรา แก้วสอน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าวไทย ช่วง “ชัวร์ก่อนแชร์” เกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ
ตำลึง เป็นพืชที่มีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย (ไม่สมบูรณ์เพศ) ซึ่งแต่ละต้นนั้นจะมีแค่เพศเดียว โดยการที่จะรู้ว่าตำลึงต้นไหนเป็นเพศใดต้องดูจากดอกเท่านั้น
หากเป็น “เพศเมีย” ให้ดูที่ใต้ดอก จะมีกระเปาะอยู่ใต้ดอก นั่นคือ รังไข่ ที่บ่งบอกว่าเป็นเพศเมีย
หากเป็น “เพศผู้” จะไม่มีกระเปาะใต้ดอก
ส่วนในเรื่องของลักษณะของใบที่ว่ามีเว้ามาก หยักน้อยนั้น “ไม่สามารถบ่งบอกเพศได้”
ทีนี้ก็มาตอบคำถามว่า แล้วทำไมบางคนกินตำลึงแล้วท้องเสีย หนึ่งในเหตุผลที่เกิดอาการที่ว่า คือ ตำลึงเป็นพืชที่มีไฟเบอร์สูง จึงช่วยในเรื่องการขับถ่ายอยู่แล้ว หากเป็นคนที่ธาตุอ่อนหรือไวกับไฟเบอร์ ก็จะส่งผลให้ถ่ายง่ายกว่าคนอื่นๆ
นอกจากนี้อาการท้องเสีย อาจมาจากเรื่องของการทำความสะอาด รวมถึงส่วนผสม เครื่องปรุง และวัตถุดิบอื่นๆ ที่นำเข้ามารวมเป็นเมนูจากตำลึงได้เช่นกัน
ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าจะเจอตำลึงที่ใบเว้า ใบเต็ม หรือ ต้นเพศผู้ ต้นเพศเมีย ก็ไม่ทำให้ท้องเสีย ขอเพียงล้างสะอาด ปรุงกับวัตถุดิบที่มีคุณภาพ การันตีค่ะว่า ตำลึงเป็นพืชที่มีประโยชน์มากอีกชนิดหนึ่งเลยค่ะ