"มะเขือเจ้าพระยา" ผักสมุนไพรใกล้ตัวที่มีดีอย่างเพียบ

ถ้าเคยได้ยินคำว่า “มะเขือพญา” หรือ "มะเขือเจ้าพระยา" ก็อย่าเพิ่งงว่าคืออะไร มันก็คือ มะเขือเปราะ ที่หลายคนรู้จักนั่นละค่ะ เป็นอีกหนึ่งผักที่ต้นกำเนิดเดินทางไกลมาจากอินเดีย โดยมาพร้อมสรรพคุณทางยาหลายอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการลดไข้ แก้ร้อนใน และช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้นค่ะ

วันนี้ KC Fresh ขอพาทุกคนไปทำความรู้จัก “มะเขือ” ชนิดนี้ให้มากขึ้น จะได้มั่นใจกับคำเชิญชวนที่เราอยากให้ทุกคนกินมะเขือชนิดนี้กันเยอะๆ เพราะสรรพคุณของเขาไม่ธรรมดา นั่นคือ

  1. ช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน เพราะมีฤทธิ์เย็น จึงช่วยลดไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
  2. ช่วยบำรุงสายตา เพราะลูกกลมๆ ของเขาเต็มไปด้วยวิตามินเอ ซึ่งดีต่อดวงตา
  3. ช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากมีใยอาหารสูง ทำให้อิ่มนาน ลดความอยากอาหาร
  4. ช่วยระบบขับถ่าย ในมะเขือมีใยอาหารจึงช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวก

แม้ว่ามะเขือเปราะจะมีสรรพคุณที่ดีมากมาย แต่เหรียญมีสองด้านฉันใด มะเขือชนิดนี้ก็ไม่ต่างกัน จึงมีข้อพึงระวังในการกินมะเขือเปราะ คือ อย่ากินมากเกินไป โดยเฉพาะคนที่รู้ตัวว่าธาตุเย็น เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย หรือปวดท้องได้

สำหรับมือใหม่ให้กินมะเขือนี้ KC Fresh ขอแนะนำว่า ลองกินแบบสุกดูก่อน เพราะเมื่อผ่านการปรุงมาแล้ว รสชาติจะช่วยให้กินง่ายขึ้น และมะเขือเปลือกนิ่มลง ช่วยได้เคี้ยวง่ายกว่าสำหรับผู้ที่ฟันไม่แข็งแรง

โดยเมนูแนะนำที่เราคัดมาให้มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แกงส้มมะเขือเปราะ, ยำมะเขือเปราะ, มะเขือเปราะผัดไข่,  น้ำพริกมะเขือเปราะ, มะเขือเปราะทอด เป็นต้น

แต่ถ้าอยากลองกินสดๆ กับน้ำพริก ก็สามารถทำได้ แต่อย่าลืมล้างให้สะอาด ขณะที่กิน สามารถกินได้ทั้งเปลือก หากว่าใช้มีดหั่นไว้ ต้องรีบกินเพราะมะเขือที่หั่นแล้วจะดำง่าย ด้วยว่าเจ้ามะเขือพญาจะไปทำปฏิกิริยากับอากาศจะเกิดเป็นปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ทำให้สีเนื้อขาวๆ กลายเป็นสีดำ

ถ้าอยากหั่นเตรียมไว้แล้วค่อยกินละก็ ขอให้ทำตามนี้ค่ะ

  1. ใช้เกลือช่วย เพียงเตรียมน้ำสะอาด 1 ถ้วย  เติมเกลือป่น 1 ช้อนชา หั่นมะเขือเปราะเสร็จแล้ว นำไปแช่ในน้ำเกลือทันที
  2. ใช้น้ำส้มสายชูช่วย ให้เตรียมน้ำสะอาด 1 ถ้วย เติมน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะ หั่นมะเขือเปราะเสร็จแล้ว นำไปแช่ในน้ำส้มสายชูทันที

ส่วนเหตุผลว่าทำไมถึงทำแล้วไม่ดำ เพราะทั้งเกลือและน้ำส้มสายชู มีคุณสมบัติช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในมะเขือนั่นเองค่ะ