ก่อนหน้านี้มีกระแสการกิน ‘ผักงอก’ และ ‘ต้นอ่อน’ ที่มาแรงแบบสุดๆ เพราะนอกจากจะเพาะเองได้ไม่ยาก ยังกินแล้วได้ประโยชน์สูง แต่ในตอนนี้ ‘ผักไมโครกรีน’ ก็มาแรงไม่แพ้กัน แต่ผักที่ว่านี้ดียังไง เจ๋งกว่าสองชนิดแรกแค่ไหน ไปดูกัน
ความต่างของผัก 3 อย่าง
ผักงอก ต้นอ่อน และไมโครกรีน ต่างกันที่ช่วงอายุของการเก็บเกี่ยวและชนิดของพืชที่นำมาเพาะ กล่าวคือ
‘ผักงอก’ คือ ต้นอ่อนที่งอกจากเมล็ดถั่วทุกชนิด มีระยะเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่าง 2-7 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของถั่วที่นำมาเพาะ
‘ต้นอ่อน’ คือ ต้นกล้าของผักชนิดต่างๆ ที่นำมาเพาะราว 7-10 วันแล้วเก็บกิน
‘ไมโครกรีน’ คือ ต้นอ่อนของผักสีเขียวที่มีความสูงขนาดประมาณ 3 นิ้ว มีระยะเก็บเกี่ยวหลังจากการงอกประมาณ 7-21 วัน หรือสังเกตว่ามีใบแท้งอกออกมา 2-3 ใบ
‘ผักไมโครกรีน’ มีมานานพร้อมประโยชน์เพียบ
จริงๆ แล้วผักไมโครกรีนมีมาตั้งแต่ช่วงกลางยุค 80s เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นเพียงผักจิ๋วๆ ตกแต่งเมนูอาหารให้สวยงามน่ากินมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งต่อมานักโภชนาการพบว่าผักจิ๋วเหล่านี้มีสารอาหารมากกว่าผักโตเต็มวัย ไม่ว่าจะต้นอ่อนของกะหล่ำปลีที่มีวิตามินซีสูงกว่ากะหล่ำปลีหัวใหญ่ๆ ถึง 40 เท่าในสัดส่วนเท่ากัน หรือต้นอ่อนของผักชีเองก็มีเบต้าแคโรทีนมากกว่าต้นผักชีที่ใช้โรยหน้าถึง 3 เท่า!
นอกจากนี้ ไมผักไมโครกรีนยังเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ และอุดมด้วยเเร่ธาตุโพเเทสเซียม เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม และทองเเดง
โดยผักไมโครกรีนให้ปริมาณสารอาหารในปริมาณสูง ทั้งวิตามิน เเร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผักใบเขียว โดยมีรายงานวิจัยเปรียบเทียบต้นอ่อน ไมโครกรีนกับพืชที่โตเต็มที่ชนิดเดียวกัน พบว่า สารอาหารในโมโครกรีนมีปริมาณสูงกว่าพืชไมโครกรีนที่โตเต็มที่ 9 เท่า แถมยังมีความหลากหลายของสารโพลีฟีนอล และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีความหลากหลายกว่า โดยฐานข้อมูลสารอาหารของ USDA พบว่า ไมโครกรีนมีวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าผักใบที่โตเต็มที่ 40 เท่า
ทั้งนี้ เราสามารถเพาะไมโครกรีนได้จากเมล็ดพืชหลายชนิด แต่สำหรับในประเทศไทยนิยมปลูกและจำหน่ายต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ต้นอ่อนอัลฟัลฟ่า ต้นอ่อนโต้วเหมี่ยว (ถั่วลันเตา) ฯลฯ โดยผักไมโครกรีนเเต่ละชนิดจะมีความเเตกต่างกัน ทั้งในแง่โภชนาการ และรสชาติ มีกระทั้งรสชาติเผ็ด เปรี้ยว ขม ฯลฯ
ส่วนว่า ผักไมโครกรีนจะมีวิธีการกินยังไงให้อร่อยได้บ้าง ขอบอกว่าส่วนใหญ่แล้วนิยมกินสดๆ เป็นส่วนหนึ่งในเมนูสลัด ใส่ในแซนวิชหรือเบอร์เกอร์ หากชอบกินน้ำพริกแบบไทยๆ ก็นำไปกินคู่กันได้ ส่วนถ้าเป็นเมนูของว่างง่ายๆ อย่างเปาะเปี๊ยะสดหรือสลัดม้วน ผักไมโครกรีนก็สามารถเป็นตัวเอกได้เพียงนำมาวางเรียงเป็นไส้ใน แต่ถ้ายังไม่คุ้นกับการกินสดๆ จะนำไปผัดเร็วๆ ในน้ำมันมะกอกสักนิดก็อิ่มอร่อยได้คุณค่าจากผักไมโครกรีนเหมือนกันค่ะ