จัดให้ถูกกับเมนูสุขภาพเพื่อ สว. ที่รัก

เคยได้ยินผู้สูงวัยบ่นไหมคะว่า เบื่อจัง ไม่รู้จะกินอะไรดี หรือบางทีเราๆ ท่านๆ ที่ต้องดูแลผู้สูงวัยก็งงๆ มึนๆ คิดไม่ออกว่าจะจัดเมนูอะไรให้กินแบบที่ไม่ใช่แค่อร่อย แต่ต้องมีประโยชน์ มาลองอ่านหลักการง่ายๆ ที่เราหาข้อมูลมาฝากกันค่ะ

คอนเซ็ปง่ายๆ ในการเตรียมอาหารให้กับ สว. คือ หลากหลายครบ 5 หมู่ และเหมาะสม โดยควรจัดอาหารให้ผู้สูงวัยได้รับพลังงานจากอาหาร วันละ 1,500 - 2,000 กิโลแคลอรี และแบ่งตามอาหารหลัก 5 หมู่แบบที่เคยเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ ดังนี้

โปรตีน คือสารอาหารที่ผู้สูงอายุต้องการมากที่สุดเพื่อใช้ในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยอาหารกลุ่มนี้จะประกอบด้วยอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ แต่แนะนำให้เน้นเนื้อปลา เพราะย่อยง่าย ไขมันต่ำ รวมถึงโปรตีนจากนมเพื่อสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง ประกอบกับการดื่มนมพร่องมันเนย 200 มล. และกินไข่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 ฟอง แต่ผู้สูงอายุที่มีไขมันในเลือดสูง ควรจำกัดการรับประทานไข่แดงไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ฟอง หรือเลือกรับประทานเฉพาะไข่ขาวเท่านั้น

คาร์โบไฮเดรต เปลี่ยนจากการกินข้าวขาวที่ผ่านการขัดสีเต็มๆ มาเป็นข้าวกล้อง เผือก มัน ธัญพืช ขนมปังโฮลวีต ลูกเดือย เพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมกันดีกว่า

เกลือแร่และแร่ธาตุ รับได้เต็มๆ จากผักชนิดต่างๆ แต่เน้นว่ากินแบบผ่านการปรุงด้วยการต้มหรือนึ่งให้สุกยังไม่พอ จะต้องหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้เคี้ยวง่าย และที่สำคัญควรคละสีเสมอ เพื่อให้เหล่า สว. ได้วิตามินและแร่ธาตุที่หลากหลาย

ธาตุเหล็ก แร่ธาตุสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะ สว. ส่วนใหญ่มักประสบปัญหาเรื่องเลือดจาง อาการเหนื่อยง่าย แต่การกินอาหารที่มีธาตุเหล็กจะช่วยในเรื่องนี้ได้ดี โดยธาตุเหล็กจะช่วยป้องกันภาวะซีดและอาการเหนื่อยง่าย หากินได้ง่ายในผักใบเขียว

นอกจากนี้ อาหารในกลุ่มที่ให้วิตามินต่างๆ ก็ห้ามขาด ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารที่ให้วิตามินซีอย่างผักโขม มะละกอ ฝรั่ง ส้ม กลุ่มอาหารที่มีวิตามินบี 12 ที่ช่วยเรื่องการสร้างเม็ดเลือดแดง เซลล์สมองและเส้นประสาท กลุ่มอาหารที่มีวิตามินเอ ช่วยรักษาสายตาของผู้สูงอายุไม่ให้เสื่อมสภาพเร็ว รวมถึงวิตามินจากผลไม้ต่างๆ ที่เคี้ยวง่าย เนื้อนุ่ม เพื่อให้ได้รับวิตามินซีและเส้นใยอาหาร

แถมให้อีกนิดคือ กลุ่มเมนูอาหารที่ให้โพแทสเซียม เพื่อช่วยเสริมการทำงานให้กับระบบกล้ามเนื้อและระบบประสาทอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกลุ่มนี้พบมากใน กล้วย ส้ม ฝรั่ง มะเขือเทศ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ ผักโขม ข้าวซ้อมมือ

ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพราะน้ำช่วยนำสารอาหารต่างๆ ไปยังอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย อีกทั้งช่วยเรื่องระบบขับถ่าย ระบายของเสียออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น และไม่ว่าจะกินเมนูไหนก็ตามจะกินสุก กินสด หรือแบบไหน ต้องระวังเรื่องความสะอาดเป็นอันดับหนึ่ง เพราะผู้สูงวัยร่างกายไม่เต็มร้อย โอกาสการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิดนะคะ