เรื่องของเรื่องก็คือ มีหลายคนที่ชื่นชอบการกินผักที่มีกลิ่น แล้วสิ่งที่ได้มาไม่ได้มีแค่ความอร่อยและประโยชน์มากมาย แต่กลายมาว่าพ่วงกลิ่นเฉพาะตัวของผักมาไว้ในช่องปากเป็นที่ระลึกซะอย่างนั้น KC Fresh ก็เลยเสาะหา วิธีลดกลิ่นปากที่เกิดจากการกินผักบางประเภทมาฝากกันค่ะ
เริ่มเบาๆ กับ “ชะอม” กันก่อน
จริงๆ แล้วมีวิธีลดกลิ่นชะอมตั้งแต่ที่ยังไม่เอานำเข้าปากนะคะ เพราะเราได้ข้อมูลมาว่า ก่อนที่จะใส่ชะอมลงในหม้อแกงหรือต้มต่างๆ ขอให้ใส่เกลือลงไปในหม้อประมาณครึ่งช้อนชาตอนที่น้ำกำลังเดือดจัดซะก่อน แล้วค่อยๆ ใส่ชะอมลงไป เสร็จแล้วยกหม้อลงจากเตาทันที ซึ่งเขาว่ากันว่า วิธีนี้จะช่วยลดกลิ่นเหม็นของชะอมได้ เวลากินชะอมก็อร่อยมากขึ้น
ส่วนวิธีลดกลิ่นปากจากชะอมคือ ให้ดื่มนมหรือกินโยเกิร์ตตบท้าย หรือบ้วนปาก กลั้วคอ ด้วยน้ำอุ่นผสมเกลือก็ได้ รับรองว่ากลิ่นเบาบางลงไปได้มากค่ะ
ต่อกันคือ ผักตัวตึงเรื่องกลิ่นแรงอย่าง ‘สะตอ’
ก่อนนำมาทำอาหารให้เอาเมล็ดสะตอซาวกับน้ำเกลือก็ช่วยลดกลิ่นได้ แต่ก่อนจะกินให้เตรียมมะเขือเปราะไว้สักลูกสองลูก เพราะเจ้ามะเขือเปราะนี่ละค่ะ คือฮีโร่ในครั้งนี้ เพราะพลังเอนไซน์ในมะเขือเปราะช่วยลดกลิ่นปากจะสะตอได้ วิธีการคือ กินสะตอเม็ดสุดท้ายลงท้องไปแล้ว ตามด้วยมะเขือเปราะได้เลย
เอาละค่ะ เดินทางมาถึงตัวเด็ดเบอร์ 3 อย่าง ‘กระเทียม’ กันแล้ว ก่อนหน้านี้ KC Fresh แนะนำวิธีล้างกลิ่นกระเทียมติดมือไปแล้ว ครั้งนี้มาลดกลิ่นกระเทียมในปากกันบ้าง
วิธีการง่ายไม่แพ้กัน แค่ใช้มะนาวฝานบางให้เป็นประโยชน์ ซึ่งคำว่าฝานบางๆ นี้คือ หยิบทั้งลูกมาแล้วฝากให้ติดเนื้อติดเปลือกแล้วจับเข้าปากเคี้ยวได้เลยค่ะ น้ำมันจากเปลือกมะนาวจะช่วยขจัดกลิ่นกระเทียม แต่ก็มีบางคนบอกว่า กินนมเปรี้ยมหรือโยเกิร์ต รวมถึง ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยวอย่างน้ำมะนาวคั้นสดและน้ำส้มคั้นสดก็ช่วยลดกลิ่นปากจากกระเทียมได้เหมือนกันนะคะ
ปิดท้ายด้วยผักฮิตของสาวแซ่บนิยมอาหารยำอย่าง “หอมหัวใหญ่” ที่ถึงแม้บางคนบอกว่าไม่ได้เคี้ยวเข้าปากไปแบบเต็มๆ แค่คลุกเคล้าเป็นหนึ่งในส่วนผสมเมนูยำก็ยังมีกลิ่นมาติดปากได้
วิธีการลดกลิ่นหอมหัวใหญ่ก็คือ กินผักกาดหอมตามเข้าไป เพื่อช่วยชะล้างเอนไซม์ของหอมใหญ่ให้หมดไปได้ ทำให้กลิ่นปากลดลงนั่นเองค่ะ