วันนี้ KC Fresh มีความจริงมาเฉลยให้กับบางท่านที่สงสัยมาตลอดว่า เมนูอาหารที่ชื่อ ‘ขนมผักกาด’ นั้นมีส่วนประกอบของผักกาดจริงไหม
ทำความรู้จักกันเบื้องต้นสักหน่อยว่า ชื่อของขนมผักกาดนี้ มีคำที่เรียกตามทับศัพท์สำเนียงแต้จิ๋วว่า "ไช่เถ่าก้วย" โดยคำว่า ก้วย ใช้เรียกอาหารแป้งนึ่งจากข้าวเจ้าและข้าวเหนียว พอมาเมื่อรวมกับ "ไช่เถ่า" ที่แปลว่า ผักกาดหัว ก็แปลตามตัวเป็น “ขนมหัวผักกาด” หรือ ขนมผักกาดหัว พูดไปพูดมาก็สั้นลงกลายเป็น “ขนมผักกาด”
อ่านถึงตรงนี้คงคิดใช่ไหมคะว่า วัตถุดิบหลักของเมนูนี้ต้องหนีไม่พ้นผักกาดแน่เลย แต่ขอบอกค่ะว่า เมนูนี้ไม่มีผักกาดสักนิด เพราะวัตถุดิบหลักคือ หัวไชเท้า ต่างหาก
วิธีทำขนมผักกาดก็ไม่ยาก ขอแค่มีหัวไชเท้าและแป้ง เพิ่มเติมด้วยเนื้อสัตว์จำพวกกุ้งแห้ง กุนเชียง (แล้วแต่ชอบ) พร้อมเครื่องปรุงรส ก็เริ่มลงมือทำได้เลย
นำหัวไชเท้าปอกเปลือกออก แล้วขูดเนื้อเป็นเส้นยาวๆ หรือไม่ก็ใช้การหั่นเป็นฝอยๆ เอา เสร็จแล้วล้างน้ำให้สะอาด ซึ่งตรงนี้ต้องบีบน้ำออกจากเนื้อไชเท้าให้ได้มากที่สุด จะได้ช่วยลดความเฝื่อนของเนื้อไชเท้า
พักให้สะเด็ดน้ำที่สุด ก็นำไปใส่ในแป้งข้าวเจ้าและแป้งมันสำปะหลังที่ผสมน้ำข้นๆ คล้ายๆ ตอนทำเมนูชุบแป้งทอด ซึ่งตรงนี้ให้ใช้ปริมาณแป้งข้าวเจ้ามากกว่าแป้งมันสำปะหลังสัก 3 เท่า เช่น ถ้าใช้แป้งข้าวเจ้า 200 กรัม ก็ใช้แป้งมันสำปะหลัง 50 กรัม เป็นต้น
ช่วงที่คลุกไชเท้ากับแป้งก็เติมกุ้งแห้ง เนื้อหมู หรือ กุนเชียงลงไปพร้อมกันได้เลย และส่วนใหญ่จะเสริมด้วยเห็ดหอมหั่นเป็นแผ่นบางๆ ถั่วลิสง เติมกระเทียมเจียว เหล้าจีน ปรุงรสด้วยพริกไทยและเกลือ พอทุกอย่างเคล้าจนเข้ากันพักไว้ แล้วจึงนำไปนึ่ง
เมื่อนึ่งจนสุก อยากกินเลยก็กินได้ แค่เตรียมน้ำจิ้มเอาไว้สักนิดเพื่อเพิ่มรสชาติ เป็นน้ำจิ้มซีอิ๊วดำหวานผสมพริกน้ำส้มแบบตำ แต่บางคนชอบกินแบบทอดให้กรอบนิดๆ เกียมหน่อยๆ ก็เอาไปจี่ในกระทะก่อนกิน
ขนมผัดกาดจัดว่าเป็นเมนูของว่างก็จริง แต่ในระยะหลังๆ มีการนำไปประยุกต์เป็นเมนูต่างๆ มากมาย เช่น บางบ้านนำไปผัดคล้ายๆ ผัดไทยคือ ใส่ไข่ใส่ถั่วงอก บางบ้านทอดแบบเดียวกับเมนูหอยทอด เพื่อให้ผิวเกรียมๆ กรอบนอกนุ่มใน ส่วนใครลดน้ำหนักอยู่ละก็ กินแบบนึ่งน่าจะเหมาะที่สุด และกินในประมาณพอดีๆ แทนมื้ออาหารได้ รับรองอิ่มท้องแน่นอนค่ะ