แยกความต่างที่ภายนอกกันก่อน
“หอมแดง” มีหัวอยู่ใต้ดิน ผลทรงกลมถึงรูปไข่ โดยจะมีหลายหัวเกาะกลุ่มอยู่ด้วยกัน ซึ่งมีขนาดเล็กพอๆ กับกระเทียม เปลือกหุ้มมีสีม่วงหรือสีน้ำตาล แต่บางสายพันธุ์มีเปลือกสีส้ม เมื่อปอกเปลือกออกมาแล้ว จะเห็นเนื้อด้านนอกของกลีบเป็นสีม่วง ส่วนเนื้อด้านในเป็นสีขาว มีกลิ่นฉุนเวลาปอกจะทำให้แสบตา
ส่วน “หอมแขก” นั้นมีลำต้นใต้ดิน เรียกว่า หัวสะสมอาหาร มีลักษณะพองกลมป้อมหรือกลมรีทรงกระสวย มีเปลือกสีแดงหุ้มภายในมีกลีบสีม่วงแดง เป็นพืชคนละสกุลกับหอมแดง และมีขนาดลูกใหญ่กว่ามาก เมื่อหั่นหอมแขกออกมา จะมีลักษณะภายในเหมือนหอมหัวใหญ่ จึงทำให้หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคือหอมหัวใหญ่ที่มีสีม่วง
สรรพคุณคล้ายกันบ้าง แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
อย่างที่บอกไปแล้วว่า หอมแดงและหอมแขกเป็นพืชคนละสกุลกัน ส่งผลให้มีสรรพคุณต่างกัน โดยจุดเด่นของหอมแดงคือมีรสฉุนกว่า มาพร้อมสรรพคุณในการช่วยขับลม แก้ท้องอืด ช่วยย่อยและทำให้เจริญอาหาร และในหอมแดงสดมีน้ำมันหอมระเหย Diallyltrisulfide, Flavonoid, Glycosides, Pectin และ Glucokinin ซึ่งสรรพคุณของ Flavonoid นั้นคือช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และฤทธิ์ร้อนของหอมแดงช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ลดความดันเลือด และลดไขมันในเลือด ทั้งยังสามารถใช้ทาภายนอกเพื่อแก้สิวและแก้พิษแมลงกัดได้
แต่สำหรับหอมแขกนั้น หัวของหอมมีรสร้อน หากนำมาต้มกับน้ำกินแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ได้ นอกจากนี้แม้จะมีกลิ่นฉุนน้อยกว่า แต่หอมแขกก็ยังมีสรรพคุณช่วยแก้หวัดคัดจมูกได้ แต่มากกว่านั้นคือ หอมแขกมีฤทธิ์ขับพยาธิ แก้ปวดประจำเดือน ลดความดันโลหิตและไขมันในเส้นเลือดได้
หอมไหนอร่อยกว่ากัน
แม้จะบอกว่า เรื่องรสนิยมในการกินแล้วแต่ความชอบของแต่ละบุคคลก็ตาม แต่ว่ากันว่า หอมแดงจะมีรสชาติที่เข้มข้นกว่า เมื่อนำมาเจียวน้ำมันให้กรอบจะส่งกลิ่นหอม ส่วนหอมแขก จะมีรสชาติหวานกว่า แถมราคาถูกกว่ากันเยอะ แต่โดยรวมแล้วรสชาติและกลิ่นก็สู้หอมแดงไม่ได้
หอมแต่ละชนิดก็เหมาะกับการทำอาหารเมนูต่างๆ กันไปนะคะ แต่หากเพิ่งหัดทำอาหาร KC Fresh ขอแนะนำให้ลองทำตามสูตรเป๊ะๆ ไปก่อน แต่ถ้าทำเก่งแล้วจะลองปรับการนำชนิดหอมต่างๆ ไปประยุกต์ก็ไม่ว่ากัน ได้รสชาติเป็นแบบไหน นำมาอวดกันบ้างนะคะ