ไม่แปลกหรอกค่ะ ที่เมื่ออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ฤดูกาลผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น แถมยังมีโรคบางโรคที่ยังไม่ทันตั้งตัวก็ปรากฏขึ้นมาให้หวั่นใจ สิ่งที่ควรดูแลตัวเองมากที่สุดคือการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายค่ะ
โดยพื้นฐานแล้วร่างกายของมนุษย์มีระบบภูมิคุ้มกัน หรือที่เรียกว่า Immune system คอยต้านทานและกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่จะเข้ามาสู่ร่างกายอยู่แล้ว โดยมีเม็ดเลือดขาวทำหน้าที่นั้นอยู่ ซึ่งเม็ดเลือดขาวจะไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดและตามอวัยวะต่างๆ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ร่างกายเกิดภาวะภูมิต้านทานต่ำ (Immunosuppression) หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายส่งผลให้เกิดอาการป่วยตามมา ซึ่งหนึ่งในวิธีดูแลตัวเองที่นอกเหนือไปจากการพักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอยู่เสมอคือการกินผักผลไม้ที่มีประโยชน์และมีส่วนช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน
ทั้งนี้ มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่พบว่า ผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูงจะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานได้จริง เช่นการวิจัยหนึ่งพบว่า ชาย-หญิงจำนวน 60 คน มีอายุเฉลี่ย 56 ปี เมื่อรับประทานผักผลไม้ให้ได้เบต้าแคโรทีนปริมาณ 30-60 มิลลิกรัมต่อวัน ภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นั่นเพราะภูมิต้านทานวัดได้จากการทำงานของเม็ดเลือดขาวและสารเบต้าแคโรทีนคือตัวช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวเหล่านี้ถูกกระตุ้นหรือเกิดการแบ่งเซลล์ทำให้พร้อมที่จะทำงานได้
นอกจากนี้อาหารอุดมด้วยวิตามิน เอ บี ซี และอี ก็จะมีส่วนในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายควบคู่กันไป แต่จะมีผักอะไรใกล้ตัวของเราบ้าง ไปดูกันค่ะ
“ขิง” นอกจากจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบแล้ว ขิงยังเป็นพืชที่มีระบุอยู่ในการแพทย์โบราณของหลายชนชาติว่าช่วยแก้พิษ ลดบวม ขับลม นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่รองรับสรรพคุณแก้หวัดได้ดี เพราะขิงช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้
“กระเทียม” คือเครื่องเทศที่มีฤทธิ์เสริมภูมิต้านทานที่ดีอีกชนิดหนึ่ง เพราะสารอัลลิซิน (allicin) และซัลไฟด์ (sulfides) ในกระเทียมจะไปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เป็นสารต้านอนุมูลอิสระด้วย
“หอมหัวใหญ่” มีสารประกอบซัลเฟอร์ที่ทำให้ทีเซลล์และเซลล์แมโครฟาจตื่นตัว พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนของเอ็นเคเซลล์หอมหัวใหญ่ยังมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคมะเร็ง บรรเทาอาการของโรค ภูมิแพ้ ป้องกันอาหารเป็นพิษ ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันตื่นตัว
“แครอท” ขึ้นชื่อว่ามีเบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ ทำหน้าที่บำรุงผิวหนังและชั้นเยื่อเมือกให้แข็งแรง ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
“ตะไคร้” ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ไม่แพ้ผักชนิดอื่นๆ และยังทำให้ลำไส้สามารถดูดซึมสารอาหารได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงทำให้กลไกการสร้างภูมิต้านทานแข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
“พริกหวาน” นอกจากจะสีสวยลูกโตแล้ว พริกหวานยังอุดมไปด้วยวิตามินซีที่ไปกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของภูมิคุ้มกันเพื่อทำลายเชื้อโรค ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดูแลอาการภูมิแพ้กำเริบและบำรุงรักษาเซลล์ภูมิคุ้มกัน
“มะละกอ” ใครจะไปคิดว่า มะละกอที่ขึ้นข้างบ้านจะช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันได้ด้วย นั่นเพราะสารแคโรทีนในมะละกอเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ จึงช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แถมยังช่วยบรรเทาอาการของโรคหวัดได้ด้วย
“กะหล่ำปลี” ว่ากันว่าเวลาซื้อกะหล่ำปลีต้องเลือกที่หัวหนักๆ จึงจะคุ้ม แต่ไม่ว่าจะหัวหนักหรือเบา กะหล่ำปลีก็ช่วยจำกัดพิษในสารก่อมะเร็งลดขนาดของเนื้องอก เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เหมือนกัน
“ผักฉ่อย” อุดมไปด้วยวิตามินเอ บำรุงผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ป้องกันโรคมะเร็ง ไข้หวัดและโรคปอดอักเสบ
“มะระ” สารควินินที่อยู่ในมะระช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ป้องกันโรคมะเร็ง โรคปอด และโรคเอส์ บรรเทาอาการหวัด
ยังมีพืชผักและผลไม้อีกมากมายที่มีคุณสมบัติช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความสะอาดในผักแต่ละชนิดที่จะนำมาบริโภค ควรมั่นใจว่าผ่านการดูแลไม่ให้มีสารปนเปื้อน และจะดีที่สุดหากผักนั้นๆ เป็นผักปลอดภัยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานตามระบบ GAP, ThaiGAP, GlobalGAP และจะยิ่งปลอดภัยมากขึ้น หากเป็นผักที่ได้ผ่านกระบวนการสุ่มตรวจคุณภาพและสารเคมี ล้าง คัด และ ตัดแต่งตามมาตรฐานระบบ GMP, HACCP และ BRC Food หากพบผักที่มีคุณสมบัติที่ว่าไปแล้ว ขอให้มั่นใจได้เลยว่าเป็นผักปลอดภัยอย่างแน่นอน
ข้อมูล : https://medinfo.psu.ac.th/, www.thairath.co.th, https://www.matichonacademy.com/